วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญ


ความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้ก่อตั้งให้มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญขึ้น
หลายองค์กร เพื่อให้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช ๒๕๔๐ โดยมีบทบาทและภารกิจหลักในการควบคุมมิให้บทบัญญัติของกฎหมายใดขัดหรือ
แย้งต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเป็นองค์กรที่รักษาดุลยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
มิให้ใช้อำนาจหน้าที่เหลื่อมล้ำหรือขัดแย้งกัน บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ บทบาทในการรับรอง
และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เช่น กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒๑/
๒๕๔๖ ที่ให้หญิงมีสามีมีสิทธิใช้ชื่อสกุลเดิมของตนได้ เป็นการส่งเสริมให้ชายและหญิงมีความเสมอภาค
กันในทางกฎหมาย เป็นต้น ดังจะเห็นได้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่งผลให้บทบัญญัติแห่ง
รัฐธรรมนูญมีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้
ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ
ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น สะท้อนได้จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของ
สาธารณชนที่มีต่อองค์กรอิสระ ซึ่งจัดทำโดยส่วนราชการ องค์กรและสถาบันทางการศึกษาหลายแห่ง ดัง
ปรากฏตามตาราง
ตารางแสดงผลสำรวจความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อองค์อิสระ(เฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ)
ปีที่สำรวจ หน่วยงานที่จัดทำ อันดับ หมายเหตุ
ธันวาคม ๒๕๔๔ สถาบันพระปกเกล้า ๑ จาก ๓ อันดับ
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เอแบคโพล ๒ จาก ๗ อันดับ
กรกฎาคม – สิงหาคม๒๕๔๕ สถาบันพระปกเกล้า ๕ จาก ๑๐ อันดับ
สิงหาคม ๒๕๔๕ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ๒ จาก ๑๐ อันดับ
๒๕๔๙ สถาบันพระปกเกล้าและ
สำนักงานสถิติแห่งชาติ
๒ จาก ๘ อันดับ
มีนาคม ๒๕๔๙ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ๒ จาก ๘ อันดับ
เมษายน ๒๕๔๙ เอแบคโพล ๑ จาก ๕ อันดับ
สำหรับการสำรวจความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อองค์กรอิสระโดยสถาบันพระปกเกล้าและ
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นั้น ได้สำรวจองค์กรอิสระ จำนวน ๘ องค์กร ได้แก่
ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการตรวจเงิน
แผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในอันดับ ๒ ปรากฏตามแผนภูมิ ดังนี้
แผนภูมิแสดงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่จัดทำโดยสถาบัน
พระปกเกล้าและสำนักงานสถิติแห่งชาติ จำแนกตามความเชื่อมั่นที่มีต่อองค์กรอิสระต่างๆ
ค่าความเชื่อมั่น
ศาลยุติธรรมศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ผู้ตรวจการฯ ป.ป.ช. คตง. คกก.สิทธิฯ สภาที่ปรึกษาฯ
เชื่อมั่นมาก ค่อนข้างเชื่อมั่น ไม่เชื่อมั่น
จากแผนภูมิข้างต้น ประชาชนจำนวนมากกว่าร้อยละ ๗๐ มีความเชื่อมั่นมากและค่อนข้างเชื่อมั่น
ต่อผลการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ มีเพียงร้อยละ ๑.๖ เท่านั้น ที่ไม่เชื่อมั่นต่อการทำงานของศาล
รัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจของหลายๆ สถาบัน พบว่า ประชาชนค่อนข้างพึงพอใจ
ต่อการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ในช่วงที่มีปัญหาวิกฤตการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ.
๒๕๔๙ ที่ผ่านมานั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนเป็นอันดับที่ ๑ ร่วมกับศาลปกครอง
คือ ร้อยละ ๕๓.๙ จากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(เอแบคโพล) ในเรื่องความเชื่อมั่นที่มีต่อ
องค์กรอิสระโดยมี ป.ป.ช. วุฒิสภา และ ก.ก.ต. ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนตามลำดับ
เมื่อพิจารณาถึงความเห็นของประชาชนต่อประเด็นต่างๆ ในการปฏิรูปการเมืองซึ่งทำการสำรวจ
โดยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในครั้งเดียวกันนั้น (๒๕๔๙) กลับพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ
๗๐ ต้องการเพิ่มบทบาทอำนาจหน้าที่ขององค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ นอกจากนี้ เกือบ
ร้อยละ ๗๐ ยังเห็นว่าควรแก้ไขกระบวนการสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระซึ่งเมื่อ
ย้อนกลับไปดูผลการสำรวจในเรื่องเดียวกันนี้ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พบว่า
ประชาชนร้อยละ ๖๙ เห็นว่า กระบวนการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ตาม
รัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเพียงพอ และประชาชนมากกว่าร้อยละ ๘๐
เห็นว่า จำเป็นต้องให้สาธารณชนตรวจสอบบุคคลที่ผ่านการสรรหาก่อนที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใน
องค์กรตามรัฐธรรมนูญเหล่านั้น
จากผลสำรวจดังกล่าวข้างต้น ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังมีความเชื่อมั่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ในการทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งเป็น
เจตนารมณ์สำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
กลุ่มงานวิจัยและพัฒนารัฐธรรมนูญ
สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

ไม่มีความคิดเห็น: